ระวัง! การต่อทาบเหล็กเส้นในงานโครงสร้าง
- LDA
- Mar 9, 2023
- 1 min read
Updated: Apr 3
เหล็กเส้นที่มีขายอยู่ในประเทศไทยโดยทั่วไปจะมีความยาวมากที่สุดคือ 10 เมตร และ 12 เมตร แต่เมื่อเราต้องก่อสร้างเสาคานพื้นผนังที่มีความยาวมากกว่า 12 เมตร ทำให้ต้องมีการต่อทาบเหล็กเสริมอยู่เสมอ
การต่อทาบเหล็กเส้น คือ การต่อความยาวของเหล็กเส้นที่เป็นเหล็กเสริมในโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก เช่น เสา คาน โดยการต่อทาบจะใช้ลวดผูกเหล็ก
“มาตรฐานก่อสร้างของกรมโยธาธิการและผังเมือง มยผ. 1103-52” กำหนดไว้ว่า
เหล็กเส้นกลมควรต่อทาบไม่น้อยกว่า 40 เท่าของขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของเหล็กเส้นนั้น และให้งอปลาย 180 องศาด้วย ถ้าเหล็กเส้นกลมมีขนาดมากกว่า15ซม. อาจจะงอแต่ 90 องศาก็ได้ เช่น หากนำเหล็กเส้นกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 9 มิลลิเมตร สำหรับใช้เป็นเหล็กหลักมาต่อกัน ระยะทาบคือ 9 x 40 = 360 มิลลิเมตร (36 เซนติเมตร) เป็นต้น
เหล็กเส้นข้ออ้อย SD30/SD40/SD50 ควรจะต่อไม่น้อยกว่า 30/36/45 เท่า ตามลำดับ โดยไม่ต้องงอปลายก็ได้ เช่น หากนำเหล็กเส้นข้ออ้อยขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 16 มิลลิเมตรเกรด SD40 สำหรับใช้เป็นเหล็กหลักมาต่อกัน ระยะทาบคือ 16 x 36 = 576 มิลลิเมตร (57.6 เซนติเมตร) สามารถทาบมากกว่านี้ได้แต่ห้ามน้อยกว่านี้เป็นอันขาด และถ้าต้องต่อทาบเหล็กที่มีขนาดไม่เท่ากัน ก็ให้ยึดระยะตามขนาดเหล็กที่ใหญ่กว่าเสมอ
การต่อเหล็กเส้นในคานนั้น มีจุดที่ไม่ควรต่อ เพื่อไม่ให้กระทบกับการรับแรง โดยเหล็กหลักเสริมล่างให้ต่อบริเวณหัวเสาหรือคานจนถึงระยะ 1/6 ของความยาวช่วงคาน จากศูนย์กลางจุดรองรับ และเหล็กหลักเสริมบนให้ต่อบริเวณกลางคาน
นอกจากนั้นมีข้อควรระวัง คือ เหล็กที่เส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 25 มม.ขึ้นไป ไม่ควรมีการทาบเหล็ก เนื่องจากเหล็กขนาดใหญ่จะเยื้องศูนย์กลางได้ง่าย จึงควรต้องใช้ปลอกหรือข้อต่อเหล็กเป็นตัวเชื่อมต่อแทน และ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ( วสท.) ยังกำหนดให้เหล็กเส้นที่ใหญ่กว่า 36 มม. ต้องต่อกันด้วยวิธีเชื่อม ( Welding )หรือใช้ข้อต่อทางกล ( Mechanical coupler ) เท่านั้น ห้ามทาบ


コメント